สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 43 คน ลงชื่อร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ....) พ.ศ..... ให้ที่ประชุม สนช.พิจารณา
เป้าหมายร่าง พ.ร.บ.นี้คือ ปลดล็อกยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 คือ กัญชาและพืชกระท่อม สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปใช้ในการรักษา ภายใต้การดูแล และควบคุมของแพทย์ได้
การเสนอกฎหมายฉบับนี้เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดอีก 3 ฉบับ เพื่อให้ใช้กัญชา และพืชกระท่อมในทางการแพทย์ได้
กฎหมายทั้ง 3 ฉบับคือร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด และร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่ง สนช.ให้ความเห็นชอบในวาระแรกแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ มีรายละเอียดมาก มีประเด็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังมีความเห็นต่างกันมาก ทำให้การพิจารณาค่อนข้างช้า และอาจจะเสร็จไม่ทันสมัยนี้ จึงมีผู้เสนอทางออกให้เสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่แยกออกมา เป็นที่มาของร่าง พ.ร.บ.ปลดล็อกกัญชา และพืชกระท่อมให้ใช้ในทางการแพทย์ได้เท่านั้น
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ...) พ.ศ..... คือ แก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ว่า กรณีจะนำยาเสพติดประเภท 2 (ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคน ฯลฯ) หรือประเภทที่ 5 ทำประโยชน์เพื่อวิจัยทางการแพทย์ หรือทางราชการ ต้องได้รับอนุญาต
ผู้มีสิทธิขออนุญาตได้ประกอบด้วย กระทรวง ทบวง กรม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย หรือองค์การเภสัชกรรม ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ได้แก่ เวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง แพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์
ร่างกฎหมายยังกำหนดการอนุญาตให้ทดลองปลูก ผลิต เสพ หรือครอบครอง โดยให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นผู้พิจารณาอนุญาต นอกจากนั้น ยังยกเว้นความผิดสำหรับผู้ใช้ยาเสพติดประเภท 2 และประเภท 5 เพื่อเป็นยารักษาโรค แต่ต้องมีใบอนุญาต
นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย หนึ่งในแพทย์ เครือข่ายช่วยรักษาผู้ป่วยด้วยสารสกัดกัญชา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยว่า ในกัญชามีสาร 2 ชนิดหลักที่ทำหน้าที่ร่วมกันคือ สาร CBD (Cannabidiol) และสาร THC (Tetrahydrocannabinol)
CBD ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ลดการอักเสบบวมโต ระงับการเกร็งหรือชักกระตุก และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระบบประสาทได้
THC มีผลในทางประสาท ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เคลิ้บเคลิ้มหรือหลายคนที่ใช้แล้วรู้สึกมา อีกทั้งยังเป็นตัวที่ทำให้ระบบประสาทสัมผัสทำงานดีขึ้น ช่วยกระตุ้นให้อยากอาหาร
อย่างไรก็ตาม แพทยสภายังไม่ให้การยอมรับกัญชาเป็นยารักษาโรค หลังจากได้ขอความเห็นจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่พิจารณางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค ซึ่งระบุว่า กรณีศึกษาในงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชายังมีจำนวนน้อยเกินไป และบางส่วนยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะรับรองให้กัญชาเป็นยารักษาโรค
ปัจจุบันหลายประเทศอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น เนเธอร์แลนด์ โคลอมเบีย อุรุกวัย แคนาดา ออสเตรเลีย และรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาที่ใช้กัญชาในทางการแพทย์มา 20 ปีแล้ว
สำหรับประเทศไทย มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมีการตั้งเป้าหมายว่า จะให้มีน้ำมันกัญชา หรือยากัญชา ใช้ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
คณะทำงานเพื่อพิจารณาการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่คณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ ได้รายงานว่า ในส่วนแผนปัจจุบันพบว่า โรคที่มีการศึกษาวิจัยชัดเจนแล้วว่า ใช้กัญชาได้มี 3 กลุ่มคือ แก้คลื่นไส้อาเจียนในคนไข้มะเร็งที่รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักในเด็ก และปลอกประสาทอักเสบ
ส่วนโรคที่มีการศึกษาวิจัย แต่ยังไม่ชัดเจนเช่น ลมชักที่ดื้อยาอื่นๆ การมีผลต่อเซลล์มะเร็งในคนหรือไม่ พาร์กินสัน และจิตเวช ส่วนแพทย์แผนไทยได้เสนอตำรับยา 4 ตำรับเพื่อศึกษาว่า ต้องใช้สารสกัด CBD และ THC ในอัตราส่วนเท่าไร
ขณะเดียวกัน องค์การเภสัชกรรมกำลังทำโครงการขอปลูกและวิจัยทำสารสกัดจากกัญชา 2 โครงการคือ ขอของกลางมาสกัด และขอปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา
วันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มอบกัญชาของกลาง 100 กิโลกรัมให้องค์การเภสัชกรรมนำไปสกัดสาร THC และ CBD เพื่อผลิตน้ำมันกัญชา โดยกัญชา 100 กิโลกรัม สามารถสกัดน้ำมันกัญชาแบบเข้มข้น 10-15 ลิตร หรือได้ประมาณ 18,000 ขวด ขวดละ 5 ซีซี
ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ กฎหมายที่จะปลดล็อกกัญชาให้ไปใช้ทางการแพทย์ได้คือ กุญแจสำคัญที่จะทำให้งานด้านวิจัยพัฒนาจนสามารถผลิตน้ำมันกัญชา ออกมาใช้ได้ภายในเดือนพฤษภาคมปีหน้า เป็นความจริงได้